LOGO

Blog

Blog

Affordable Luxury

< Home
Jun 14

ส่องแนวคิด 5 Great Architect ในยุค 2000s

ทุกความสำเร็จย่อมมีเบื้องหลังเสมอ และสำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรม ความสำเร็จของโครงการ คือกระจกสะท้อนไถึงแนวคิดจากสถาปนิกผู้ออกแบบ ซึ่งอยู่เบื้องหลังโครงการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ลองมาดูแนวคิดและสไตล์การออกแบบจากสถาปนิกยอดเยี่ยมระดับโลกหรือ Great Architect ในยุค 2000s ว่าน่าทึ่งแค่ไหนไปพร้อมๆ กัน

Jean Nouvel สถาปนิกผู้ดึงความโดดเด่นของแสงและเงาโดยไม่มีกฎตายตัว

Jean Nouvel สถาปนิกผู้พางานสถาปัตยกรรมก้าวผ่านรูปแบบเดิมๆ จนได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2008 ผ่านผลงานการออกแบบมากมาย และทุกการออกแบบของสถาปนิกคนนี้ ล้วนซ่อนเร้นไปด้วยการให้ความสำคัญกับแสงเงาและความสมดุลของสภาพแวดล้อม จนได้รับขนานนามว่าเป็นสถาปนิกที่กล้าหาญที่สุดอีกคนหนึ่งของยุค

ผลงานสร้างชื่อครั้งแรกคือ Institut du Monde Arabe (IMA) ในกรุงปารีส ที่โดดเด่นด้วยการออกแบบผนังให้คล้ายเลนส์กล้อง สามารถขยายภาพได้ตามแสงแดดในแต่ละช่วงเวลาของวัน ซึ่งเป็นการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมอิสลามดั้งเดิมอย่าง Mashrabiya มาประยุกต์ สะท้อนความสวยงามของความสมดุลระหว่างอาคารและธรรมชาติ

Jean Nouvel เปรียบเทียบงานสถาปัตยกรรมเสมือนการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งทุกสิ่งล้วนมีความสัมพันธ์กัน และความสัมพันธ์เหล่านั้นจะถูกแสดงให้เห็นสู่สายตาภายนอก ดังนั้นการลำดับเรื่องราวต่างๆ เพื่อเล่าความสัมพันธ์ จึงเป็นแก่นแท้สำคัญของงานออกแบบ เช่นเดียวกับการกำกับภาพยตร์

Hiroshi Nakamura สถาปนิกผู้นอบน้อมต่อธรรมชาติ

Hiroshi Nakamura นักออกแบบที่เชื่อว่าพลังงานธรรมชาติ คือวัสดุตั้งต้นชั้นดีที่ไม่มีราคาต้องจ่าย ดังนั้นผลงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกคนนี้ จึงเป็นการนอบน้อมต่อธรรมชาติ ด้วยการนำงานออกแบบให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากที่สุด

ในทุกกระบวนการออกแบบ Hiroshi Nakamura จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่จริง​ (Site) เพื่อเก็บข้อมูลและสัมผัสบริบทของสถานที่ในทุกมุมมองและอิริยาบถ และทำความเข้าใจธรรมชาติของสถานที่ให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นโครงการ Dancing Trees, Singing Birds บ้านในกรุงโตเกียว ที่เริ่มต้นจากการตัดต้นไม้ให้น้อยที่สุด และลงไปทำงานกับผู้ปลูกต้นไม้ในการหลีกเลี่ยงการตัดรากต้นไม้ เพื่อลดความเสียหายต่อธรรมชาติให้ได้มากที่สุด

Jean Nouvel เชื่อว่างานสถาปัตยกรรม ไม่ได้สะท้อนแค่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอาคารเท่านั้น แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติด้วย ดังนั้นงานออกแบบของเขาจึงพยายามทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนและธรรมชาติ ด้วยงานสถาปัตยกรรมนั่นเอง

Santiago Caltrava สถาปนิกผู้ให้ความใส่ใจเรื่องโครงสร้าง

หากคิดถึงสถาปนิกยุคใหม่ ที่มีความล้ำสมัยอย่างโดดเด่น เชื่อว่าต้องมีชื่อของ Santiago Caltrava ติดโผอยู่ด้วยแน่นอน เพราะเขาเป็นสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างที่มีผลงานในการสร้างสะพานกว่า 50 แห่งทั่วโลก เช่น Bac de Roda Bridge หรือ Margaret Hunt Hill Bridge

ด้วยการเป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้าง ทำให้ผลงานของ Santiago Caltrava เป็นการผสมผสานระหว่างความหนักแน่นและสวยงามได้อย่างลงตัว เสมือนเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง จุดเด่นของผลงานออกแบบคือการนำเสนอโครงสร้างที่เรียกได้ว่า เป็นการท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกเลยทีเดียว

Norman Foster สถานิกผู้เนรมิตความล้ำสมัย

Norman Foster คือสถาปนิกหัวล้ำสมัย ที่ดึงเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเคลื่อนไหวงานสถาปัตยกรรมได้อย่างแท้จริง ผ่านผลงานการออกแบบหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน แกลอรี ท่าเรือ อาคารรัฐสภา หรือผังเมือง โดยทุกผลงานของเขาคือการนำนวัตกรรมสมัยใหม่และสถาปัตยกรรมผนวกรวมด้วยกัน เพื่อผลักเขตแดนของงานสถาปัตยกรรมยุคปัจจุบันให้ไกลยิ่งขึ้น

ความสามารถและความโดดเด่นของ Norman Foster ได้ถูกพิสูจน์ผ่านรางวัลการออกแบบมากมาย ทั้งจาก Stirling Prize และ Pritzker Prize ซึ่งทำให้ผลงานของเขามักถูกจับตามองและตั้งตาคอย โดยเฉพาะโครงการ The Tulip อาคารที่สูง 240 เมตร ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายดอกทิวลิป

Shigeru Ban สถาปนิกผู้ใช้วัสดุรีไซเคิล

หากคิดถึง Paper House หลายคนต้องคิดถึง Shigeru Ban สถาปนิกผู้นำความเป็นได้ยากของการใช้แกนกระดาษ สู่งานออกแบบสถาปัตยกรรมได้สำเร็จ จนได้รับรางวัล Pritzker Prize ในปี 2014 ในฐานะของสถาปนิกผู้คิดค้นงานออกแบบเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ผลงานสร้างชื่อของเขา คือการนำวัสดุรีไซเคิลอย่าง Cardboard หรือ Paper Tube มาปรับใช้ในบริบทต่างๆ เพื่อสร้างอาคารที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัย และอาคารที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่นโครงการ Hannover Expo 2000

สาเหตุที่เขามักจะเลือกใช้ Cardboard หรือ Paper Tube ในงานออกแบบ เพราะป็นวัสดุที่ต้นทุนไม่สูง สามารถนำมารีไซเคิลได้ สร้างความยั่งยืนให้กับโลก ไม่ทำลายและรบกวนธรรมชาติ และเหมาะกับการใช้สร้างอาคารชั่วคราวสำหรับช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

เพราะผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่โครงการสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ยังเป็นผลงานที่สามารถสร้างคุณค่า สร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมความยั่งยืน และขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของคนและธรรมชาติได้ ดังนั้นสถาปนิกจึงให้ความสำคัญกับบริบทและสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างผลงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าอย่างมากที่สุด

< กลับหน้าหลัก