LOGO

Blog

Blog

Affordable Luxury

< Home
Sep 16

สถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล

หากจะพูดถึงสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลแล้ว หลายคนคงอาจจะนึกถึง “ตึกฝรั่ง” ที่เป็นการผสมผสานการออกแบบระหว่างศิลปะตะวันตกเข้าไว้กับศิลปะตามแต่ท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งที่มาของการออกแบบลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เราเรียกว่า “ยุคล่าอาณานิคม” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตกต่างแย่งชิงกันครอบครองพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก เลยมีส่วนทำให้ชาติที่ตกเป็นอาณานิคมต่างก็ได้รับอิทธิพลการออกแบบลักษณะนี้

เช่นเดียวกับสยามหรือประเทศไทยในเวลานั้น ที่เป็นเวลาเดียวกับชาติตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6 แม้จะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ได้รับอิทธิพลต่าง ๆ จากตะวันตกเช่นกัน สังเกตได้จากรสนิยมของชนชั้นนำสยามในเวลานั้นที่นิยมวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รถยนต์ ภาษา การใช้ชีวิต และที่อยู่อาศัย ก็มีการปรับให้เป็นรูปแบบตะวันตกมากขึ้น 

“สถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล” จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของความนิยมตะวันตกในเจ้านายทางเหนือได้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงเวลานั้นล้านนาก็ได้รับผลประโยชน์จากการปล่อยสัมปทานป่าไม้ในภาคเหนือให้กับชาติตะวันตก เลยทำให้มีการขนเอา สถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ชาวตะวันตกเข้ามาให้ล้านนาเป็นจำนวนมาก แต่วันนี้เราไม่ได้มาพูดถึงประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคม แต่เราอยากจะขอหยิบยกเอาสถาปัตยกรรมล้านนาโคโลเนียล ที่ถือว่าเป็นประจักษ์พยานสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ณ ช่วงเวลาหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย

  • คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

หนึ่งในที่ประทับของเจ้านายล้านนา หรือ “คุ้ม” คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ถือเป็นคุ้มไม่กี่แห่งในเชียงใหม่ที่ยังหลงเหลืออยู่ ด้วยจุดเด่นของคุ้มนี้ก็คือการออกแบบที่ให้กลิ่นอายของสถาปัตยกรรมโคโลเนียลยุคเริ่มแรกอย่างชัดเจน โดยมีตัวอาคารเป็นเรือนสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ ออกแบบให้บันไดอยู่ด้านนอก ชั้นล่างสถาปนิกเลือกจะใช้การผสมผสานเอารูปแบบเรือนมนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลมาใช้ ส่วนชั้นบนเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนาที่ได้นำเทคนิคการใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นนำมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างชาญฉลาด

  • คุ้มเจ้าหลวง

แม้ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้จะกลายสภาพจาก “คุ้มเจ้าหลวง” เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ไปแล้ว แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นคุ้มเจ้านายทางเหนือเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งจะสังเกตได้ตั้งแต่ภายนอกที่มีการออกแบบอย่างประณีตสวยงามด้วยรูปแบบของสถาปัตยกรรมโคโลเนียลยุคเริ่มแรกอย่างเรือนมนิลา ไม่เฉพาะแค่การออกแบบภายนอกที่สวยงาม ภายในเขาก็มีจุดเด่นไม่แพ้ภายนอก โดยเฉพาะ “หน้าต่าง” ของคุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้ที่มีมากถึง 72 บาน แต่ละบานงดงามด้วยลวดลายฉลุไม้ และที่สำคัญยังมีชื่อเรียกไม่ซ้ำกันด้วย 

  • เรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์)

เปลี่ยนอารมณ์กันสักเล็กน้อย หลังจากที่พาไปรู้จักกับคุ้มต่าง ๆ สำหรับเรือนทรงอาณานิคม (คิวรีเปอล์) แห่งนี้ อย่างแรกเลยที่แตกต่างจากสองสถานที่ที่ยกมาข้างต้นนั้นคือ “สถานะ” ที่สำหรับเรือนแห่งนี้มันถูกใช้ในฐานะเป็นที่พักอาศัยของชาวอังกฤษและ โดยมีนายอาเธอร์ ไลออนแนล เคอริเปล์ เป็นเจ้าของในช่วงเริ่มต้น ได้ชื่อว่าเป็นคนอังกฤษก็ไม่ลืมที่จะเอางานสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษมาด้วย เราจึงได้เห็นการเลือกใช้วัสดุจำพวกอิฐหินปูนมาเป็นวัสดุหลัก โดยมีการปรับให้เข้ากับสภาพอากาศของภาคเหนือ ด้วยการเพิ่มระเบียงและช่องระบายอากาศตามจุดต่าง ๆของบ้าน ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นต้นแบบในการออกแบบคุ้มต่าง ๆ ในภาคเหนือ

ถ้าให้ลงลึกในทุกสถานที่ก็กลัวว่าเนื้อหาจะยาวเกินไป เอาเป็นว่าข้อมูลที่ยกมาข้างต้นคงจะมีประโยชน์ต่อคนที่มีความสนใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ล้านนา หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีสถาปัตยกรรมในรูปแบบนี้อีกเป็นจำนวนมากกระจายตัวอยู่ทั่วภาคเหนือ ทางที่ดีแนะนำให้ลองไปชมด้วยตาตัวเองก็ไม่เลว เอาเป็นว่าต่อไปเราจะหยิบยกเอาอะไรมาเล่าอีก ก็ขอให้ติดตาม Elegant Decor เอาไว้ด้วยใจระทึก

< กลับหน้าหลัก