
6 งานสร้างสรรค์ของคนไทยที่สร้างชื่อใน A+ Awards 2019
หนึ่งในรางวัลที่นักออกแบบทั่วโลกรู้จักและลุ้นกันเป็นประจำทุกปีว่า ผลงานของตัวเองจะไปเข้าตากรรมการหรือไม่ ก็คือรางวัล Architizer A+ Awards หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า A+ Awards นั่นเอง
รางวัลนี้เป็นงานประกวดผลงานด้านสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติที่เน้นส่งเสริมโปรเจกต์ที่ไม่ได้มีดีแค่การดีไซน์ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย โดยมีคณะกรรมการจากหลากหลายสาขาในแวดวงออกแบบมาร่วมพิจารณาและตัดสินด้วย
และที่ผ่านมาก็มีสถาปนิกไทย
Elegant Décor จึงรวบรวมทั้ง 6 โปรเจกต์มาให้ดูกันว่า แต่ละงานมีความโดดเด่นอย่าง

HACHI Serviced Apartment • รางวัล Popular Choice Winner ประเภท Apartment Multi Unit Housing • ออกแบบโดย Octane Architect & Design เชื่อว่าใครที่เคยผ่านไปในซอยลาดพร้าว 3 น่าจะต้องสะดุดกับดีไซน์แปลกตาของเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ ที่ทางทีมออกแบบอย่าง Octane Architect & Design เล่นสนุกกับการออกแบบฟาซาด ทั้งด้านดีไซน์และวัสดุ จนได้เป็นฟาซาดเล่นระดับที่ดูทันสมัย แต่ก็ยังให้บรรยากาศอบอุ่นจากตัววัสดุหลักอย่างไม้นั่นเอง ไม่ใช่แค่ภายนอกอาคารที่ผ่านการออกแบบอย่างละเอียดลออ เพราะภายในที่แบ่งออกเป็นห้องพักทั้งหมด 34 ห้อง ยังนำเอาดีไซน์จากด้านนอกมาประยุกต์กับพื้นที่ใช้สอยด้วย อย่างประตูของแต่ละห้องที่เป็นรูปทรงลักษณะเดียวกันกับฟาซาด ผนวกเข้ากับงานออกแบบที่ได้ไอเดียมาจากชนเผ่าโบราณในอารยธรรมตะวันออก การจับคู่วัสดุระหว่างพื้นหินอ่อนสีขาและไม้ที่ปรากฏอยู่แทบทุกมุมของอาคารสูง 5 ชั้นนี้สร้างความรู้สึกอบอุ่นตามความตั้งใจของทั้งเจ้าของและสตูดิโอออกแบบที่อยากให้คนที่ใช้ชีวิตภายในเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์แห่งนี้รู้สึกเหมือนกับอยู่บ้านของตัวเอง Octane Architect & Design : www.facebook.com/Octane.architect

Y/A/O Residence • รางวัล Popular Choice Winner ประเภท Residential Interiors • ออกแบบโดย Octane Architect & Design ถ้าจะบอกว่า Octane Architect & Design ขึ้นแท่นกลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอที่เราจับตามองผลงานมากที่สุดแห่งหนึ่งไปแล้วก็คงจะไม่เกินจริง เพราะในปีนี้สตูดิโอแห่งนี้คว้ารางวัลจาก A+ Awards 2019 มาถึง 2 รางวัล นอกจาก HACHI Serviced Apartment ที่ดูโดดเด่นแล้ว สตูดิโอแห่งนี้ยังเป็นเจ้าของดีไซน์สวยๆ ของ Y/A/O Residence บ้านพักส่วนตัวที่เจ้าของบ้านให้อิสระทีมออกแบบอย่างเต็มที่และให้คิดเหมือนกับกำลังออกแบบบ้านของตัวเอง โดยมีข้อแม้เพียงแค่ให้ออกมาเป็นบ้านที่สวยและมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร จากโจทย์ดังกล่าว ทางสตูดิโอใช้เวลาศึกษาและตีความจนได้ข้อสรุปว่า ดีไซน์ของบ้านหลังนี้จะเป็นการนำเอาจุดเด่นของงานสถาปัตยกรรมที่เน้นด้านโครงสร้างภายนอกมาใช้ในการออกแบบภายในของบ้านหลังนี้ด้วย ทั้งพื้น ผนัง หลังคา และส่วนอื่นๆ ของบ้านจึงถูกออกแบบโดยคำนึงถึงการสื่อสารคอนเซปต์นี้ สนามหญ้าและทิศทางของแสงคืออีกสองปัจจัยที่ Octane Architect & Design นำมาประกอบในการออกแบบด้วย ดีไซน์ของบ้านจึงเกิดขึ้นจากความเข้าใจและรู้ว่าจะดึงประโยชน์จากสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติมาหยอกล้อเล่นกับตัวบ้านได้อย่างไร รายละเอียดต่างๆ ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ที่พิถีพิถันในทุกด้านจึงทำให้ไม่น่าแปลกใจที่การออกแบบบ้านหลังนี้จะเป็นไปตามโจทย์ที่เจ้าของให้ไว้ และสร้างเอกลักษณ์ให้จดจำได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นดีไซน์ Octane Architect & Design : www.facebook.com/Octane.architect

Kloem Hostel • รางวัล: Jury Winner ประเภท Concepts – Plus-Architecture +Sustainability • ออกแบบโดย IF (Integrated Field) โฮสเทลที่เพียงแค่ย่างเท้าเข้าไปก็บอกได้คำเดียวว่าต้อง “เคลิ้ม” ไปกับดีไซน์เก๋ๆ ที่รีโนเวตบ้านไม้เก่ายกใต้ถุนสูง ในซอยเพชรบุรี 5 ซึ่งสร้างในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประมาณ 60 ปีที่แล้ว ให้ออกมาเป็นโรงแรมขนาดเล็กได้อย่างลงตัว เจ้าของโครงการได้เลือกให้กลุ่ม IF (Integrated Field) เป็นผู้ออกแบบภายใต้โจทย์ที่ว่า ต้องคงภาพของบ้านไม้แบบดั้งเดิม และผสมผสานความเป็นโมเดิร์นโดยที่ยังคงกลิ่นอายของความเป็นไทยและวิถีชีวิตชุมชนเข้าไป เพื่อให้ผู้ที่เข้าพักสัมผัสได้ถึงความสบายๆ แบบไทยแท้ ตัวอาคารใช้สีดำเป็นหลักเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและกลมกลืนกับภายนอกที่เป็นชุมชน โดยสถาปนิกได้นำโครงเหล็กมาเชื่อมบ้านไม้ 2 หลัง เข้าไว้ด้วยกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในส่วนรวม ทั้งส่วนต้อนรับด้านหน้า ลานสันทนาการ และพื้นที่รับประทานอาหาร โดยทั้งหมดนี้ถูกปกคลุมด้วยตาข่ายขนของสำหรับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งปลอดภัยในเรื่องของการรับน้ำหนัก ทำให้ผู้มาเยือนได้นั่งๆ นอนๆ พักผ่อนกันได้อย่างเต็มที่ โดยมีวิวเป็นสวนสีเขียวที่มองออกไปแล้วโล่ง โปร่ง สบายตา และเย็นสบาย กิมมิกอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ แขกสามารถหยิบของแต่งห้อง ทั้งต้นไม้ โคมไฟ กระจก แจกันดอกไม้ ฯลฯ ไปตกแต่งหัวเตียงและพื้นที่ว่างได้ตามใจชอบ เพื่อที่ตื่นนอนมาแล้วจะได้พบกับสภาพแวดล้อมที่รู้สึกว่าอบอุ่นเหมือนได้พักอยู่ที่บ้าน เรียกว่าออกแบบและมีฟังก์ชันที่คำนึงถึงการใช้สอยและความรู้สึกของแขกผู้มาเยือนได้อย่างลงตัว Kloem Hostel : Kloem Hostel IF (Integrated Field) : IF (Integrated Field)

Little Shelter Hotel โดย Department of Architecture • รางวัล Popular Choice Winner ประเภท Details – Plus-Architecture +Glass • ออกแบบโดย Department of Architecture Little Shelter เป็นโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในแง่ของความงดงามและมีรายละเอียดของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งความทันสมัยและมีกลิ่นอายพื้นถิ่นแบบล้านนา ความโดดเด่นนี้รังสรรค์โดยนักออกแบบมือรางวัล อมตะ หลูไพบูลย์ และ ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ แห่งสตูดิโอ Department of Architecture ที่เชี่ยวชาญในด้านของการนำศิลปะ วัฒนธรรม และบริบทแวดล้อมทางด้านสังคมมาทดลองใช้ในงานออกแบบด้วยเทคนิคและแนวคิดอันโดดเด่น การตกแต่งภายในของโรงแรมเน้นตีความงานศิลปหัตถกรรมอันเลื่องชื่อของเมืองเชียงใหม่อย่าง “ร่มบ่อสร้าง” ให้ออกมาในรูปแบบร่วมสมัยแปลกตา ส่วนห้องพักให้อารมณ์แตกต่างกันไปด้วยการติดภาพสถานที่สำคัญในเชียงใหม่เอาไว้บนฝ้าเพดาน ส่วนตัวผนังกรุด้วยกระจกแผ่นเล็กจนเกิดความรู้สึกแบบเซอร์เรียลในดินแดนล้านนาที่ทำให้ผู้มาเยือนต้องตื่นตาตื่นใจ เมื่อมาดูดีไซน์ด้านนอกของโรงแรมนั้นก็พบว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อสถาปัตยกรรมในท้องถิ่นแบบล้านนาโบราณ นั่นคือ “หลังคาแป้นเกล็ด” ซึ่งเป็นหลังคาที่มุงด้วยกระเบื้องไม้แผ่นเล็กๆ ปูต่อกันจนคล้ายเกล็ดปลา โดยได้รับการตีความใหม่เล็กน้อยด้วยรูปแบบที่ไม่สมดุลซึ่งผสมผสานกันอย่างเป็นธรรมชาติกับแสงเงาของต้นไม้โดยรอบ ส่วนที่โดดเด่นจนเหมือนกับเป็นซิกเนเจอร์ที่หลายคนต้องทึ่งนั่นก็คือ ด้านหน้าตรงทางเข้าโรงแรม ที่สถาปนิกใช้กระเบื้องแป้นเกล็ดที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ผสมกับแผ่นโพลีคาร์บอเนต หรือแผ่นพลาสติกผิวเรียบโปร่งแสง ห่อหุ้มด้วยเทคนิคการใช้สลักและสกรูแบบโปร่งแสง ที่ดูคล้ายกับว่ากระเบื้องไม้กำลังเลื้อยไหลมายังเบื้องล่าง กลายเป็นฟาซาดที่ส่องแสงประกายระยิบระยับยามที่ถูกแสงแดดกระทบเข้ามา ส่วนในยามค่ำคืนแสงจากด้านในตัวอาคารก็ช่วยให้เกิดเป็นสีสันเปล่งประกายออกมาราวกับโคมไฟขนาดใหญ่ริมแม่น้ำปิง เกิดเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจน่าค้นหา เป็นการสร้างบรรยากาศที่เล่นกับแสงไฟ และแสงของธรรมชาติที่เปลี่ยนไปตามเวลาและสภาพอากาศได้อย่างชาญฉลาด Little Shelter : Little Shelter Department of Architecture Co. : Department of Architecture Co.

Bunjob House: House of Flow • รางวัล: Jury Winner ประเภท Hospitality-Hotels & Resorts • ออกแบบโดย NPDA Studio “บ้านบรรจบ” เป็นรีสอร์ตขนาดกะทัดรัด ดีไซน์เรียบง่าย ขนาด 8 ห้อง บนอาคาร 2 ชั้น ที่ตั้งอยู่บนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกแบบโดย ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ แห่ง NPDA Studio ซึ่งบ้านบรรจบนี้เป็นส่วนต่อขยายของรีสอร์ตCo-Co Nut & Noom ซึ่งเป็นธุรกิจภายในครอบครัวของเขาด้วย เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนบนเกาะพะงัน การออกแบบจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ อาคารทั้ง 4 หลัง สามารถเปิดประตูทะลุถึงกันได้ มีการเว้นระยะอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยลดความแรงของลมหน้ามรสุม รวมถึงการระบายน้ำในยามฝนตก โดยผนังและพื้นเป็นคอนกรีตหล่อในที่ที่ดูดิบ แต่เมื่อเก็บมุมโค้งมนเชื่อมต่อเป็นเส้นเดียวกัน ก็ทำให้เส้นสายนี้เพิ่มความอ่อนช้อยลดความกระด้าง และยังช่วยรับน้ำหนักและเป็นชายคากันแดดและฝนไปในตัว เมื่อรวมกับการตกแต่งโดยใช้ไม้ไผ่เรียงตรงหน้าจั่วและนำมาขัดกันอย่างเรียบง่ายตรงบานประตู และผนังที่ใช้ทางมะพร้าวทาบทับบนพื้นปูนและเรียงร้อยต่อกันอย่างประณีต รวมถึงกระจกใสบานใหญ่ทั้งบนและล่าง จึงทำให้ตึกคอนกรีตหลังนี้ ดูโปร่งเบา มีแสงธรรมชาติที่ลอดเข้ามาส่องกระทบ ทำให้มองเห็นพื้นผิวของงานปูน สร้างมิติที่แปลกตาซึ่งคิดมาแล้วเป็นอย่างดี กลายเป็นความสมบูรณ์ที่ลงตัว NPDAstudio : NPDAstudio

IDIN Architects Office • รางวัล Popular Choice Winner ประเภท Commercial-Office – Mid Rise (5-15 Floors) • ออกแบบโดย IDIN Architects สำนักงานสถาปนิก IDIN ซ่อนตัวอยู่ในย่านรัชดาภิเษกซึ่งเป็นหนึ่งในทำเลที่ดีที่สุดสำหรับการเดินทาง และยังเป็นหนึ่งในย่านที่วุ่นวายที่สุดในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบทำให้อาคารหลังนี้มีความสงบท่ามกลางความพลุกพล่านภายนอก อาคารนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วย 3 โซน พื้นที่ใหญ่สุดคือสำนักงานสถาปนิก ที่ภายในมีคาเฟ่เก๋ๆ รอต้อนรับคนรักกาแฟ และยังทำหน้าที่เป็นแผนกต้อนรับสำหรับลูกค้าของ บริษัท และพื้นที่นันทนาการสำหรับพนักงานในช่วงระหว่างวัน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่อยู่อาศัยส่วนตัวของผู้บริหารอีกด้วย กระบวนการออกแบบเริ่มต้นด้วยการบรรจุฟังก์ชันทั้งหมดอย่างแน่นหนาและล้อมรอบด้วยต้นไม้สูงซึ่งทำหน้าที่เป็นรั้วสำหรับทั้งการบังสายตาจากภายนอกและช่วยเป็นวิวผ่อนคลายจากการทำงาน เนื่องจากที่ดินมีลักษณะแคบจึงออกแบบตัวอาคารให้เป็นแนวสูงชะลูดเพื่อให้ดูโล่ง โดยมีระเบียงและทางเดินแทรกและขนานไปกับสวนเพื่อเชื่อมต่อกับแสงธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว เนื่องจากงานสถาปนิกเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่ทำงานของอาคารนี้จึงมีหัวใจสำคัญนั่นคือ มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่อึดอัด มีแสงสว่างและอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการใช้ไอเดียออกแบบ พื้นที่ในส่วนออฟฟิศจึงหันหน้าไปในทางทิศเหนือเพื่อหลบเลี่ยงแสงแดดที่ค่อนข้างแรงจากทางทิศตะวันตกและทิศใต้ในช่วงบ่าย นอกจากนี้ การเลือกวัสดุสำหรับผนังก็เป็นสิ่งสำคัญ IDIN จึงเลือกใช้วัสดุไม้เผาผิวที่เรียกว่า “ยาคิสุกิ” (Yakisugi) ซึ่งมีสีเข้มช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันไฟ ไล่ความชื้น ป้องกันปลวกและแมลง ลดการบิดโก่ง หด ขยายตัวของไม้ และทำให้ได้พื้นผิวภายในที่ไม่แข็งกระด้างจนเกินไปด้วย IDIN Architects : IDIN Architects