LOGO

Blog

Blog

Affordable Luxury

< Home
Aug 11

"ผมทำทุกอย่างเพราะมองเห็นความเป็นไปได้” เจาะวิธีคิดของ ดวงฤทธิ์ บุนนาค

ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นสถาปนิกประจำบริษัทออกแบบขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ทุกวันนี้ เขายังคงเป็นสถาปนิกอยู่เหมือนเดิม แต่เป็นสถาปนิกที่มีกิจการของตัวเองทั้งหมด 16 บริษัท ที่มีทั้งแบรนด์แฟชั่น ร้านอาหาร เฟอร์นิเจอร์ และอีกหลายสิ่ง ซึ่งรวมถึงบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ที่เป็นบริษัทแรกของเขา

หากคุณคิดว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังทั้ง 16 บริษัทของเขาและการทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าทุกวันคือแพสชัน ก็คงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการมองเห็นความเป็นไปได้ ไม่ใช่แพสชันแต่อย่างใด

การมองเห็นความเป็นไปได้คือวิธีคิดของเขามาตั้งแต่ก่อนที่จะเลือกเรียนสถาปัตย์ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ที่งานออกแบบของเขาสร้างชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศ

นอกจากการมองเห็นความเป็นไปได้ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เขายืนหยัดในวงการได้จนถึงทุกวันนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่เขาได้ค้นพบระหว่างทางและนำมาใช้ในการทำงานด้วย ไม่ว่างานนั้นจะอยู่ในธุรกิจใดของเขาก็ตาม

“เรามองเห็นว่าเราเป็นสถาปนิกได้ เราถึงเป็นสถาปนิก เพราะตอนที่สอบเข้า ความสนใจของเราคือเรื่องวิทยาศาสตร์ อย่างฟิสิกส์นี่เป็นเรื่องโปรดเลย แต่ในขณะเดียวเราก็ชอบเรื่องศิลปะ มีเซนส์เรื่องนี้ ก็เลยมองว่ามันเป็นไปได้ที่เราจะเป็นสถาปนิก เพราะเรามีสองอย่างผสมในคนเดียว มีความสนใจเรื่องความงามพร้อมกับเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย
“หลังจบจากที่จุฬาฯ ผมไปเรียนต่อที่ AA (Architectural Association School of Architecture) ซึ่งการเรียนที่อังกฤษตอนนั้นทำให้ได้เจอสถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่เขามาสอน มาบรรยาย ถือว่าโชคดีมากที่ได้สัมผัสกับคนดังๆ แบบที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอ ซึ่งมันทำให้รู้สึกว่าการเป็นคนมีชื่อเสียงขนาดนั้นมันไม่ได้ไกลนะ แล้วก็เลยมองเห็น possibility ว่าเราสามารถไปอยู่ที่เดียวกับคนพวกนี้ เรา associate กับเขาได้ มันไม่ได้ไกลเกินเอื้อม
“อีกอย่างที่ได้จากตอนอยู่ที่นั่นก็คือระบบวิธีคิดของอังกฤษที่ค่อนข้างเป็น philosophy มากๆ ทำให้เราพัฒนาเองให้มีพื้นฐานที่แข็งแรงในการ critique ตัวเอง คือเราเป็นคนที่ด่าตัวเองได้แซ่บที่สุดแล้ว เราไม่ปล่อยให้คนอื่นมาด่าตัวเองเพราะเราด่าตัวเองก่อน เราด่าตัวเองได้เลวร้ายที่สุด การทำงานเราเลยเป็นระบบนั้น คือเราจะทำแล้ว criticize ตัวเองตลอด แล้วไม่ได้ทำจากอารมณ์
“ทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีนี้ ทุกอย่างที่เราทำ เราคิดประมาณร้อยแปดรอบ สมองวนลูปอยู่ตลอดเวลา ก็เลยไม่ต้องรอให้คนมาบอกว่างานเราไม่ดียังไง เรารู้ว่างานเราไม่ดีตรงไหนแล้วก็พัฒนาก่อนเลย ซึ่งเวลาทำธุรกิจก็ใช้กระบวนการนี้ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่งานสถาปนิก”

“ตอนเรียนจบก็ทำงานเลย เพราะว่าพื้นฐานที่บ้านไม่ได้ร่ำรวยมาก ถ้าไม่ทำงานก็จะไม่มีกิน ก็เลยทำงานตั้งแต่ยังไม่ทันส่งตัวบุ๊กธีสิสเลย งานแรกทำที่บริษัทสถาปนิกใหญ่แห่งหนึ่ง ตอนนั้นเจ้านายให้ทำอะไรก็ทำ แล้วก็ทำให้ดีที่สุดในแต่ละงานที่รับผิดชอบ แต่ไม่ได้เป็นคนที่มีความทะเยอทะยานกว่าปกติ คิดแค่ว่าทำให้ชีวิตมีพอกินพอใช้ก็พอ ช่วงนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจบูมมาก งานก็เยอะ เราก็ทำงานโอเวอร์ไทม์แบบเอากระเป๋าไปนอนออฟฟิศเลย จำได้ว่าเคลียร์แบบตึกคอนโดมิเนียมทีละ 5-6 ตึกในเวลาเดียวกัน ไม่รู้ว่าสมัยนั้นทำได้ไง แต่พอทำงานหนัก โอทีก็เยอะ จากเริ่มต้นเงินเดือนแปดพันกว่าบาท พอรวมโอทีก็เป็นหลักหมื่น ชีวิตก็เลยอยู่ได้
“แต่พอปี 2540 ที่เป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุกอย่างเหมือนเทวดาตกสวรรค์ บริษัทสถาปนิกที่เคยมีอยู่ร้อยกว่าแห่งเจ๊งไปทันทีเลยครึ่งหนึ่ง มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กะทันหันมาก เราก็มองว่ามันมีอะไรที่เราทำได้บ้าง ก็เลยเห็นความเป็นไปได้ในการช่วยบริษัท ก็คือออกมาทำบริษัทเอง โดยให้บริษัทใหญ่ถือหุ้น แต่เราทำให้ธุรกิจของเขา effective ขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทเดิมที่เป็นบริษัทใหญ่มันมีรอยรั่วเยอะ ถ้าเราแยกออกมามันจะ effective กว่า พอเสนอไอเดียนี้กับเจ้านาย เขาก็เห็นด้วย ให้เราลองทำ ตอนแรกเราก็คิดว่าคงมีผู้บริหารหลายคนอยากทำแบบนี้ ปรากฏว่ามีเราแค่คนเดียว เราก็เลยออกไปทำ เป็นโอกาสแรกที่ได้เซตอัพบริษัท พอเห็นว่ามันไปได้ เจ้านายเก่าเขาก็เลยคืนหุ้นให้ทั้งหมด ให้เราถือหุ้นแล้วก็ออกไปทำเอง
“จุดเริ่มต้นมันง่ายๆ อย่างนั้นแหละ แต่ความบ้าคือเราทำตอนปี 2540 ที่เราถีบตัวเองให้เอาเรือชูชีพออก ขณะที่คนอื่นยึดเรือลำใหญ่ไว้แน่น มันเป็นความบ้า เป็นความเสี่ยง แต่มันก็เป็นโอกาส แล้วที่เรามายืนตรงนี้ได้ก็เพราะจุดพลิกผันตอนนั้นนี่ละ”

“พอมาทำบริษัทของตัวเองจริงๆ มันต่างจากตอนเป็นพนักงาน คนมักจะคิดว่าการทำธุรกิจตัวเองมีอิสระ แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย เราเป็นทาสลูกน้องทุกคนนะ ความเครียดก็อยู่ตรงที่ว่ามันไม่ใช่การทำตัวเองให้รอดแล้ว มันต้องทำให้ลูกน้องรอดด้วย เป็นความรับผิดชอบของเรา
“แต่ในแง่วิธีทำงาน มันต่างจากแต่ก่อนตรงที่เดิมทีเราต้องทำงานใน philosophy ของบริษัทนั้นๆ มันไม่ค่อยมีอิสระในเรื่องนั้นเท่าไหร่ พอมาทำงานของตัวเองก็มีข้อดีตรงที่เราใช้อิสระได้เต็มที่ แต่ว่าก็ยังอยู่ภายใต้กรอบของลูกค้าเหมือนเดิมนะ พอมีอิสระเรื่องนี้แล้ว ในมุมกลับกัน ถ้างานมันเฟล เราโทษใครไม่ได้นะ มันคือเราทั้งนั้น
“งานทุกชิ้นที่ทำมีความท้าทายและมีความยากของมัน อย่างทำบ้านสักหลังก็ไม่ง่าย เพราะความต้องการของลูกค้าก็ซับซ้อน หรืองานตึกใหญ่มันก็ต้องมีกลไกที่ต้องเกี่ยวข้องมากมาย ทุกงานยาก ซับซ้อน และท้าทายทั้งหมด แม้กระทั่งที่คิดว่าง่ายที่สุดก็ยังยากตรงที่พอมันไม่มีอะไรเป็นข้อแม้แล้ว เราจะทำให้ดีได้หรือเปล่า อย่างเวลาลูกค้าดีมาก budget ก็มี คือทุกอย่างดีหมดเลย ถ้างานออกมาไม่ดีก็คือมึงไม่เก่งแล้วละ ไม่มีข้อแก้ตัวแล้ว”

“การปล่อยวางตัวตนคือวิธีที่ทำให้งานมี identity”
“ถ้ามองตัวเองตอนอายุ 30 กว่าช่วงที่เปิดบริษัทใหม่ๆ กับตอนนี้ สิ่งที่แตกต่างคือเราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ตอน 30 กว่าเรามีสิ่งมีที่เรียกว่า identity เยอะ มีความกังวลเรื่องตัวตนเราเยอะมาก แต่พอแก่ตัวลง เราเริ่มเห็นว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระ แล้วเราก็ปล่อยวางมันเป็น จริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมที่ผมทำมันมีตัวตนน้อยมากนะ แล้วผมก็ค้นพบว่าการปล่อยวางตัวตนคือวิธีที่ทำให้งานมี identity ถ้าเราพยายามทำให้งานมี identity มากเกินไป งานเราจะห่วยแตก
“ตอนนี้ผมไม่ได้กังวลเลยว่าจะมีชื่อเสียงไหม หรือจะมีเงินหรือเปล่า ไม่ได้แปลว่าผมดังแล้วหรือมีเงินแล้วนะ แต่ผมไม่ได้กังวลเรื่องนั้น ผมอยู่กับลูกค้าตรงหน้าผม หน้าที่เดียวของผมคือทำให้ลูกค้าตรงหน้ามีความสุขและทำให้ตัวเองมีความสุขด้วย เพราะถ้าคำตอบที่เราให้ลูกค้าในการออกแบบมันถูกต้อง ทุกคนก็จะมีความสุข ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความสุข แสดงว่าคำตอบยังไม่ถูก สิ่งที่เราต้องทำก็คืออย่าหยุดจนกว่าจะเจอคำตอบที่ถูก
“การจะเจอคำตอบมันต้องเริ่มจากปล่อยวาง identity ก่อน ซึ่งการปล่อยวางเป็นเรื่องยากของมนุษย์ แล้วทุกคนก็บูชามันมาก แต่ถ้าเราวางได้ เราจะค้นพบอะไรที่มหัศจรรย์มาก เราจะได้ยินว่าลูกค้าพูดอะไรจริงๆ ถ้าเราไม่ฝึกตัวเองเรื่องนี้ เราจะได้ยินลูกค้าในแบบที่เราคิดว่าตัวเองอยากได้ยินอะไร เวลาเราเข้าใจลูกค้าได้ ทุกอย่างก็ง่ายขึ้นเยอะ”

“แม้แต่เรื่อง architecture ที่ผมรักมากที่สุด มันก็ไม่เคยเกี่ยวกับแพสชัน แต่มันคือความเป็นไปได้”
“ผมว่าจริงๆ แล้วสถาปนิกทุกคนถูกสอนมาให้มีพื้นฐานและสำนึกที่เกี่ยวกับชุมชนค่อนข้างรุนแรง เราจะมีความเซนสิทีฟกับมัน อยากเห็นเมืองเราดีขึ้น อยากเห็นชุมชนเราดีขึ้น ตอนนี้ผมก็เป็นประธานมูลนิธิ Creative District Foundation หรือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ที่จัดตั้งขึ้นเพราะอยากจะรวบรวมคนในชุมชนเข้ามาแล้วทำประโยชน์กลับให้ชุมชน โดยใช้วิธีคิดแบบสร้างสรรค์เป็นแกนสำคัญ ก็โชคดีว่ามีเพื่อนๆ หลายคนเห็นประโยชน์แล้วก็อยากทำเรื่องนี้ด้วยกัน ซึ่งตอนนี้มันยังไม่ได้เกิดดอกผลหรอก เพราะเพิ่งเริ่มต้นได้ 2-3 ปี แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ
“ถามว่ามองตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจด้วยไหม มันหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอก เพราะต่อให้เราทำงานสถาปนิกอย่างเดียว เราก็เป็นธุรกิจอยู่แล้วเพราะเปิดบริษัทเอง แต่เรายังคิดว่าตัวเองเป็นสถาปนิกที่ทำธุรกิจมากกว่านักธุรกิจที่คิดแบบธุรกิจไปเลย เพราะเราไม่ได้สนใจว่าจะมีเงินมากเท่าไหร่ แต่สนใจว่างานของเราจะมีโอกาสสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตคนอื่นได้มากน้อยแค่ไหนในสังคมที่เราอยู่
“ทุกอย่างที่ทำทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องแพสชันเลย ผมเป็นคนหนึ่งที่เกลียดคำนี้ เพราะแพสชันมันไม่ได้อยู่กับเราตลอด มันมาแล้วก็ไป ถ้าคุณใช้แพสชันเป็นไดรฟ์ในชีวิต พอมันหมดแล้วคุณจะทำยังไงต่อละ ผมทำทุกอย่างเนื่องจากผมมองเห็น possibility เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำ ก็เลยทำ ทั้งการเปลี่ยนแปลงเมืองหรือการทำธุรกิจต่างๆ ไม่มีอะไรที่เป็นแพสชันเลย แม้แต่เรื่อง architecture ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรักมากที่สุด มันก็ไม่เคยเกี่ยวกับแพสชัน แต่เกี่ยวกับความเป็นไปได้และการเห็นโอกาส ทุกอย่างมาจากคำนี้เลย ผมว่านั่นคือวิธีที่เรามองชีวิตไปข้างหน้า ในความชอบต้องมีความเป็นไปได้อยู่ด้วย ถ้าชอบอย่างเดียวแต่ไม่มีความเป็นไปได้ก็ไม่ควรทำ ควรจะต้องมีความสมดุลระหว่างสองอย่างนี้
“แล้วถ้าให้ผมเลือกระหว่างสิ่งที่ชอบกับสิ่งที่เป็นไปได้… ผมเลือกสิ่งที่เป็นไปได้นะ”
——
ขอบคุณสถานที่: Warehouse 30 ซ.เจริญกรุง 30

< กลับหน้าหลัก