LOGO

Blog

Blog

Affordable Luxury

< Home
Feb 13

3 สถาปัตยกรรมกับตำนานความรัก

ช่วงวาเลนไทน์แบบนี้ Elegant Decor ก็ขอเกาะกระแสกับเขาหน่อย วันนี้เราเลยจะขอพาทุกคนไปดู 3 สถาปัตยกรรมที่นอกจากสวยงามแล้วยังแฝงไปด้วยความหมายดี ๆ อีกด้วย เหมือนหลาย ๆ ครั้งเราก็มักจะพบเห็นงานออกแบบของเหล่านักสร้างสรรค์ที่เลือกออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อสื่อให้เห็นถึงช่วงเวลาหรือความรู้สึกต่าง ๆ เช่นเดียวกับความรัก ที่หลาย ๆ ครั้งมันก็มากเกินกว่าจะเก็บไว้ในใจ จนต้องระบายมันออกเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ความรัก 

#ทัชมาฮาล

หากพูดถึงสถาปัตยกรรมกับตำนานความรักแล้ว ชื่อของ “ทัชมาฮาล” คงเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง อาคารหินอ่อนขนาดใหญ่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมแบบอาหรับและแบบโมกุล เพื่อให้เป็นสถานที่เก็บพระศพของพระนางมุมตัซ มาฮาล พระชายาสุดที่รักของพระเจ้าชาห์ ชหาน ที่เสียชีวิตจากการคลอดลูกคนที่ 14 

.

มีบันทึกเล่าไว้ว่าภายหลัง พระนางมุมตัซ มาฮาล เสียชีวิตลง พระเจ้าชาห์ ชหาน ก็เสียใจเป็นอย่างมาก ไม่ยอมกินไม่ยอมนอน จมดิ่งอยู่กับความเศร้าราวกับคนเสียสติ เมื่อรักมากก็เจ็บมากพระองค์จึงเลือกสร้างสถาปัตยกรรมเก็บไว้ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งความรักของพระองค์กับพระชายา โดยใช้เวลาก่อสร้างรวมกว่า 22 ปี ใช้แรงงานและงบประมาณมหาศาล จนทุกวันนี้ทัชมาฮาลได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสุดยอดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกไปเป็นที่เรียบร้อย

 

#ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์

ไปดูของต่างประเทศแล้ว ขอแวะกลับมาดูบ้านเรากันหน่อย หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าใจกลางย่านสีลม สุรวงศ์ บ้านเรานี้จะมีสถาปัตยกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับความรักแทรกอยู่ เรากำลังพูดถึง “ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์” ห้องสมุดที่ได้กลายมาเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของหมอโทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส ที่มีต่อ เจนนี่ เนลสัน เฮส์

.

แล้วทำไมต้องเป็นห้องสมุด เรื่องนี้มันมีที่มาที่ไปมาจากที่ คุณเจนนี่เธอได้เข้าร่วม สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ โดยสมาคมนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ พูดง่าย ๆ ก็คงอารมณ์แบบ Co-Working Space แบบทุกวันนี้ ในช่วงแรกตั้งสมาคมก็ยังไม่ได้มีห้องสมุดเป็นหลักเป็นแหล่งอะไร อาศัยใช้พื้นที่ของบ้านคน ย้ายตามไปเรื่อย ๆ แล้วแต่บ้าน คุณเจนนี่เธอใช้เวลาอุทิศตัวทำงานให้กับสมาคมอยู่ร่วม 25 ปี เธอก็เสียชีวิตลงด้วยโรคอหิวาตกโรคใน พ.ศ. 2463

.

หมอเฮย์ที่ได้เห็นถึงความทุ่มเทของคุณเจนนี่ผู้เป็นภรรยาที่มีต่อห้องสมุด หมอเฮย์จึงมีความคิดที่อยากจะสร้างพื้นที่ถาวรสำหรับเป็นห้องสมุด จึงได้ให้ มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนเจ้าของผลงานการออกแบบ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน และอื่น ๆ อีกมากมายให้มาออกแบบห้องสมุดแห่งนี้ ก่อนที่จะให้ชื่อว่า ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์

.

#สถูปพระนางเรือล่ม

ใครจะไปเชื่อว่าท่ามกลางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วแห่งนี้ จะมี “พีระมิด” กับเขาด้วย มาถึงตรงนี้หลายคนคงจะยังสงสัยว่าทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมีพีระมิดมาตั้งอยู่กลางป่าแบบนี้ แล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องยังไงกับความรักเดี๋ยวเราจะค่อย ๆ  อธิบายให้ฟัง 

.

เริ่มปูพื้นจากชื่อ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ขึ้นมาแบบนี้หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้น แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น “พระนางเรือล่ม” เชื่อว่าน่าจะพอรู้จักกันบ้าง สำหรับพระนางเรือล่มคนนี้ก็ถือว่าเป็นพระอัครมเหสีคนสำคัญของรัชกาลที่ 5 แต่ก็อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าในท้ายที่สุด พระนางก็ได้เสียชีวิตอย่างน่าเศร้าด้วยอุบัติเหตุเรือ จนเป็นที่มาของชื่อพระนางเรือล่ม

.

และด้วยความรักที่ รัชกาลที่ 5 มีต่อพระนางเรือล่ม ภายหลังเรื่องเศร้าดังกล่าว จึงมีความคิดที่อยากจะสร้างพระราชานุสรณ์ขึ้น ซึ่งน้ำตกพลิ้วแห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในความทรงจำและความรู้สึกดี ๆ ที่ รัชกาลที่ 5 มีต่อพระนางเรือล่ม เมื่อสมัยที่ทั้งสองเคยเดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วทำไมต้องพีระมิด เรื่องนี้มีบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า “ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็คงจะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว”

< กลับหน้าหลัก